สังขาร - ไม่เที่ยง - เป็นทุกข์

   [๑๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอะไรจึงเรียกว่ารูป เพราะสลายไป จึงเรียกว่า รูปสลายไปเพราะอะไร
   สลายไปเพราะหนาวบ้าง
   เพราะร้อนบ้าง
   เพราะหิวบ้าง
   เพราะกระหายบ้างเพราะสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด
   และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง.
 
   ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอะไร จึงเรียกว่า เวทนา เพราะเสวย จึงเรียกว่า เวทนา เสวยอะไร เสวยอารมณ์สุขบ้าง เสวยอารมณ์ทุกข์บ้าง เสวยอารมณ์ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง.
 
   ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอะไร จึงเรียกว่า สัญญา เพราะจำได้หมายรู้ จึงเรียกว่า สัญญา จำได้หมายรู้อะไร จำได้หมายรู้สีเขียวบ้างสีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง สีขาวบ้าง.
 
   ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอะไรจึงเรียกว่า สังขาร เพราะปรุงแต่งสังขตธรรม จึงเรียกว่า สังขาร
 
   ปรุงแต่งสังขตธรรมอะไร ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ รูปโดยความเป็นรูป
   ปรุงแต่ง สังขตธรรม คือ เวทนา โดยความเป็นเวทนา
   ปรุงแต่งสังขตธรรมคือ สัญญา โดยความเป็นสัญญา
   ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ สังขาร โดยความเป็นสังขาร
   ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ วิญญาณ โดยความเป็นวิญญาณ.
 
   ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอะไรจึงเรียกว่า วิญญาณ เพราะรู้แจ้ง จึงเรียกว่า วิญญาณ รู้แจ้งอะไร รู้แจ้งรสเปรี้ยวบ้าง รสขมบ้าง รสเผ็ดบ้าง รสหวานบ้าง รสขื่นบ้าง รสไม่ขื่นบ้าง รสเค็มบ้าง รสไม่เค็มบ้าง




 [๑๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
   บัดนี้เราถูกรูปกินอยู่ แม้ในอดีตกาล เราก็ถูกรูปกินแล้ว เหมือนกับที่ถูกรูปปัจจุบันกินอยู่ในบัดนี้ก็เรานี้แล พึงชื่นชมรูปอนาคต
 
   แม้ในอนาคตกาลเราก็พึงถูกรูปกินเหมือนกับที่ถูกรูปปัจจุบันกินอยู่ในบัดนี้.
 
   เธอ พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมไม่มีความอาลัยในรูปอดีต ย่อมไม่ชื่นชมรูปอนาคต ย่อมปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับรูปในปัจจุบัน.
 
   อริย สาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เราถูกเวทนากินอยู่ ... บัดนี้เราถูกสัญญากินอยู่ ... บัดนี้เราถูกสังขารกินอยู่ ... บัดนี้เราถูกวิญญาณกินอยู่ แม้ในอดีตกาล เราก็ถูกวิญญาณกินแล้ว เหมือนกับที่ถูกวิญญาณปัจจุบันกินอยู่ในบัดนี้.
 
   ก็เรานี้แล พึงชื่นชมวิญญาณอนาคต แม้ในอนาคตกาล เราก็พึง ถูกวิญญาณกินอยู่เหมือนกับที่ถูกวิญญาณปัจจุบันกินอยู่ในบัดนี้.
 
   เธอ พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมไม่มีความอาลัยในวิญญาณ แม้ที่เป็นอดีต ย่อมไม่ชื่นชมวิญญาณอนาคต ย่อมปฏิบัติเพื่อความ เบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับวิญญาณปัจจุบัน.
  

 [๑๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
 
   ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า.
   พระพุทธเจ้า. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
   ภิกษุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
 
   พระพุทธเจ้า. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตาม
   เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
   ภิกษุ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
 
   พระพุทธเจ้า. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
   ภิกษุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
 
   พระพุทธเจ้า. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
   ภิกษุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
 
   พระพุทธเจ้า. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตาม
   เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
   ภิกษุ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
  

   [๑๖๒]
   พระ พุทธเจ้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้รูปทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่
   ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ
   ปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ วิญญาณทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
 
   ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนี้ เราเรียกว่า ย่อมทำให้พินาศ ย่อมไม่ก่อ ย่อมละทิ้ง ย่อมไม่ถือมั่น ย่อมเรี่ยราย ย่อมไม่รวบรวมเข้าไว้ ย่อมทำให้มอด ไม่ก่อให้ลุกโพลงขึ้น.


[๑๖๓] อริยสาวก ย่อมทำอะไรให้พินาศ ย่อมไม่ก่ออะไร?
ย่อมทำรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้พินาศ ย่อมไม่ก่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.

ย่อมละทิ้งอะไรย่อมไม่ถือมั่นอะไร?
ย่อมละทิ้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมไม่ถือมั่นรูป เวทนา

สัญญา สังขาร วิญญาณ. ย่อมเรี่ยรายอะไร ย่อมไม่รวบรวมอะไรไว้? ย่อมเรี่ยรายรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมไม่รวบรวมรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.

ย่อมทำอะไร ให้มอด ย่อมไม่ก่ออะไรให้ลุกโพลงขึ้น?
ย่อมทำรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้มอด
ย่อมไม่ก่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้ลุกโพลงขึ้น.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร
ทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น.

เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว.
รู้ ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนี้
เราเรียกว่า ย่อมไม่ก่อ ย่อมไม่ทำให้พินาศ แต่เป็นผู้ทำให้พินาศได้แล้วตั้งอยู่ ย่อมไม่ละ ย่อม
ไม่ ถือมั่น แต่เป็นผู้ละได้แล้วตั้งอยู่ ย่อมไม่เรี่ยราย ย่อมไม่รวบรวมไว้ แต่เป็นผู้เรี่ยรายได้แล้วตั้งอยู่ ย่อมไม่ทำให้มอด ย่อมไม่ก่อให้ลุกโพลงขึ้น แต่เป็นผู้ทำให้มอดได้แล้วตั้งอยู่.  


[๑๖๔] อริยสาวก ย่อมไม่ก่ออะไร ย่อมไม่ทำอะไรให้พินาศ แต่ทำให้พินาศแล้วตั้งอยู่.

ย่อมไม่ก่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้พินาศ แต่เป็นผู้ทำให้พินาศได้แล้วตั้งอยู่.

ย่อมไม่ละอะไร ย่อมไม่ถือมั่นอะไร แต่เป็นผู้ละได้แล้วตั้งอยู่ ย่อมไม่ละรูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่เป็นผู้ละได้แล้วตั้งอยู่.

ย่อมไม่เรี่ยรายอะไร ย่อมไม่รวบรวมอะไรไว้ แต่เป็นผู้เรี่ยรายได้แล้ว
ตั้ง อยู่. ย่อมไม่เรี่ยรายรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมไม่รวบรวมรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่เป็นผู้เรี่ยรายได้แล้วตั้งอยู่.

ย่อมไม่ทำอะไรให้มอด ย่อมไม่ก่ออะไรให้ลุกโพลงขึ้น แต่เป็นผู้ทำให้มอดได้แล้วตั้งอยู่. ย่อมไม่ทำรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ ให้มอด ย่อมไม่ก่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้ลุกโพลงขึ้น แต่เป็นผู้ทำให้มอดได้แล้วตั้งอยู่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาพร้อมด้วยอินทร์ พรหม และท้าวปชาบดี
ย่อมนมัสการ ภิกษุผู้มีจิตพ้นแล้ว อย่างนี้แล แต่ที่ไกลทีเดียวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ข้าพเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อม
ต่อท่าน ข้าแต่ท่านผู้เป็นอุดมบุรุษ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อม
ต่อท่าน ผู้ซึ่งข้าพเจ้าทั้งหลายมิได้รู้จักโดยเฉพาะ และผู้ซึ่งได้
อาศัยเพ่งท่านพินิจอยู่ ดังนี้.


   [๑๕๒] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง ฯลฯ เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นควรเห็นตามความเป็นจริง
   ด้วยปัญญาอันชอบ อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
 
   ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนาทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลาย
   กำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น. เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว.
 
   ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
 
   ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก กว่าสัตตาวาสและภวัคคภพ.


 [๑๕๓] พระอรหันต์ทั้งหลาย มีความสุขหนอ เพราะท่านไม่มีตัณหา
   ตัดอัสมิมานะได้เด็ดขาด ทำลายข่ายคือโมหะได้แล้ว. พระอรหันต์
   เหล่านั้น ถึงซึ่งความไม่หวั่นไหว มีจิตไม่ขุ่นมัว ท่านเหล่านั้นไม่แปด
   เปื้อนแล้ว ด้วยเครื่องแปดเปื้อนคือตัณหาและทิฏฐิในโลก เป็นผู้
   ประเสริฐ ไม่มีอาสวะ.
 
   เป็นสัตบุรุษ เป็นพุทธบุตร เป็นพุทธโอรสกำหนดรู้เบญจขันธ์มีสัทธรรม ๗ เป็นโคจร ควรสรรเสริญ.
 
   ท่านมหาวีรบุรุษ ผู้สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ศึกษาแล้วในไตรสิกขา
   ละความกลัวและความขลาดได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมท่องเที่ยวไป โดย
   ลำดับ. ท่านมหานาคผู้สมบูรณ์ด้วยองค์ ๑๐ ประการ มีจิตตั้งมั่น
   ประเสริฐสุดในโลก ท่านเหล่านั้นไม่มีตัณหา.
 
   มีอเสขญาณเกิดขึ้นแล้วมีร่างกายนี้เป็นครั้งสุดท้าย ไม่ต้องอาศัยผู้อื่น ในคุณที่เป็นแก่นสารแห่งพรหมจรรย์.
 
   ท่านเหล่านั้นไม่หวั่นไหวเพราะมานะ หลุดพ้นจากภพใหม่ถึงอรหัตภูมิแล้ว ชนะเด็ดขาดแล้วในโลก.
 
   ท่านเหล่านั้นไม่มีความเพลิดเพลินอยู่ในส่วนเบื้องบน ท่ามกลาง และเบื้องล่าง เป็นพุทธผู้ยอดเยี่ยมในโลก ย่อมบันลือสีหนาท.


ที่มา : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค 

คัดลอกจาก : http://truthoflife.fix.gs/index.php?topic=1553.msg3138#msg3138