ความกลัวทุกอย่าง เกิดจากพื้นฐานความกลัวตายทั้งนั้น

ถ้ายังกลัวตายอยู่ จะกลัวทุกอย่าง เคยตามดูใจตัวเองเป็นปีๆ สรุปลงไปได้ว่า “ความกลัวทุกอย่าง เกิดจากพื้นฐานความกลัวตายทั้งนั้น” กลัวผี ผีมาทำอะไร ? บีบคอ บีบคอแล้วอย่างไรจ้ะ ? บีบคอแล้วตาย กลัวงู งูมากัดมารัด แล้วอย่างไรจ้ะ ? ตาย วิธีแก้คือ ไปอยู่ป่าช้า คือคนเราถ้ากลัวถึงที่สุดแล้วจะบ้า...! คราวนี้มีบ้า ๒ อย่าง คือ บ้าขาดสติ และ บ้ามีสติ พระปฏิบัติส่วนใหญ่ท่านจะบ้ามีสติ

อย่างลักษณะ หลวงพ่อชา ท่านไปภาวนาอยู่ในป่าช้า แล้วเสียงเดินดังก๊อกแก๊ก ตายละหว่า...ผีมาแล้ว กูงานนี้เสร็จแน่เลย เหงื่อแตกท่วมตัวเลย กลัวจนจะขาดใจตายลงไปอย่างนั้น จนกระทั่งในที่สุดก็ฮึดขึ้นมา เอาวะ...! ตายเป็นตาย ดูสักทีว่าผีหน้าตาเป็นอย่างไร ? ก็เปิดมุ้งกลดส่องไฟดู หมา...! หมามาหาอะไรกินในป่าช้า แทะศพบ้าง กระดูกบ้าง พอรู้ว่าเป็นหมาใจก็หายกลัว นั่นเกิดจากจิตตัวเองปรุงแต่งไป



อาตมาเองเคยไปนั่งกรรมฐานในป่าช้า เสียงงูเลื้อยมา ได้ยินเสียงก็ตัวนิดเดียวแหละ เสียงเล็กนิดเดียว แค่นั้นเองใช่ไหม ? นั่งภาวนาไปอีกสักพักหนึ่ง เอ๊ะ...! ตัวเล็กๆ แต่ถ้ามีพิษกัดเราก็ตายนะ ความรู้สึกก็เลยกลัวขึ้นมาหน่อยหนึ่ง อีกสักพักหนึ่ง ก็คิดไปอีกนิดหนึ่ง น่าจะตัวใหญ่กว่าที่เราคิดนะ ที่เราคิดว่าแค่สักนิ้วมือ ก็ใหญ่เท่าถ่านไฟฉายแล้ว ไปๆ มาๆ ไม่ถึงชั่วโมง งูตัวนั้นใหญ่กว่าเสาเรือนอีก คือความรู้สึกมันใหญ่ขึ้นไปเรื่อย จนในที่สุดก็แบบเดียวกับหลวงพ่อชาท่านทำนั่นแหละ ให้รู้ดำรู้แดงไปเลย เปิดมุ้งกลดได้ คว้าไฟฉายไปส่องดู โธ่...! ตัวเล็กนิดเดียว แถมเป็นงูก้านปล้องที่ไม่มีพิษด้วย พอรู้อวิชชาก็หายไป

แต่คราวนี้สำคัญว่า รู้อะไร ? รู้ทางโลก รู้ว่าไม่ใช่งูพิษ รู้ว่าตัวเล็ก ก็สบายใจ แต่คราวนี้รู้ว่า “จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเกิดเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นหญิง เป็นชาย ท้ายสุดก็ตายเหมือนกัน”

ถ้าเรามั่นใจในคุณความดีที่เราทำอยู่ ถึงวาระถึงเวลา ตายแล้วเราไปดีแน่ ความตายก็ไม่ใช่ของน่ากลัว เหมือน กับเปลี่ยนรถคันหนึ่ง ร่างกายของเราก็เหมือนกับรถยนต์ ตัวเราจริงๆ ก็คือคนขับรถ ถึงเวลารถเสีย รถพัง เปิดประตูลงได้ ก็ไปหาคันใหม่ขับ ถ้านึกว่าเหมือนกับเปลี่ยนรถสักคันหนึ่ง ก็พยายามหารถดีๆ แล้วกันสร้างสมบุญกุศลให้มากๆ เอาไว้ ถึงวาระถึงเวลา จะได้มีรถดีๆ รถสวยๆ ขี่ ไม่ใช่ไปเจอจักรยานโปเก ปั่นกันแทบตาย


สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ (ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ



ที่มา : http://www.grathonbook.net/book/80.html