กำเนิดคัมภีร์วิมุตติมรรค


เมื่อราว ๆ สิบปีเศษล่วงมา มีข่าวเกรียวกราวในวงการพระพุทธศาสนาลังกาว่า พระภิกษุนารทเถระผู้เดินทางดูการพระศาสนาในนานาประเทศ ได้ไปพบคัมภีร์ปกรณ์วิเศษ ชื่อ วิมุตติมรรคในประเทศจีน ท่านนารทเถระ และพุทธศาสนิกลังกามีความยินดีตื่นเต้นมาก ที่ได้ค้นพบคัมภีร์วิเศษสำคัญของวงการศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายใต้ แต่ปรากฏว่าต้นฉบับได้สูญหายไปจากคลังปริยัติภาษาบาลีมานานแล้ว ปรากฏแต่นามของคัมภีร์ที่ในปกรณ์อื่น ๆ กล่าวอ้างถึง ท่านนารทเถระพยายามสืบหามาหลายปี เพิ่งจะได้พบต้นฉบับที่แปลเป็นจีนในประเทศจีนนี้
ท่านจะร่วมมือกับอุบาสกจีนแปลถ่ายจากภาษาจีนกลับเป็นภาษาบาลีอันเป็นที่มาของเดิม ทั้งนี้เพื่อให้วงการภาษาบาลีได้สมบูรณ์ในการศึกษาค้นคว้า นี่เห็นข่าวในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์พระพุทธศาสนารายเดือน ชื่อ เสียงแห่งคลื่นทะเลออกในเมืองวู่ชางฉบับเก่า ๆ ที่ข้าพเจ้าอ่านพบ ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นหน้าตาของคัมภีร์ขึ้นในใจ ภายหลัง เมื่อค้นได้จากหลักฐานฝ่ายจีนแล้ว จึงลองเล่าสู่กันฟังพอได้ความ
คัมภีร์นี้จีนเรียกว่า เกยทุกเต้าหลุง ในภาษาแต้จิ๋ว หรือ เจี่ยโทเต้าหลุ้นในภาษากลางแปลตรงกับเลยทีเดียว คำสุดท้ายคือคำว่า หลุงแปลว่า วิมุตติมรรคศาสตร์ รวมแปลว่าศาสตร์หรือเรื่องแห่งทางหลุดพ้น เป็นคัมภีร์แก้ ศีล, สมาธิ, ปัญญาอย่างเดียวกับวิสุทธิมรรค วิธีจัดระเบียบเรื่องราวก็ดูคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่.ตามความสันนิษฐานของข้าพเจ้า ผู้แต่งคัมภีร์ทั้งสองคงจะมีการเลียนแบบไม่ใครก็ใครคนหนึ่งมา แต่คัมภีร์วิมุตติมรรคเป็นหนังสือน้อยกว่าวิสุทธิมรรค ไม่พิสดารอย่างวิสุทธิมรรค ชวนให้เข้าใจว่าบางทีจะเป็นหนังสือที่ย่อความวิสุทธิมรรค หรือมิเช่นนั้นวิสุทธิมรรค เอาวิมุตติมรรคมาเป็นแบบ แล้วกระจายความให้ความพิสดารออกไป ซึ่งฝ่ายใดเอาอย่างฝ่ายใดแน่ ข้าพเจ้าขอตัวไม่ตัดสิน ท่านผู้นิพนธ์วิมุตติมรรคปรากฏนามว่า อุปติสสะเป็นพระอรหันต์ ประวัติของท่านยังไม่ได้พบที่มา จะเป็นองค์เดียวกับพระอุปติสสะ (ซึ่งมีชีวิตอยู่ใน พ ศ. ๙๑๑-๙๕๓ หรือไม่ ข้าพเจ้ายังไม่แน่ใจนัก ถ้าเป็นองค์เดียวกันก็ไม่มีปัญหาควรสงสัยอันใดเลย) ที่ว่าวิมุตติมรรคมีกำเนิดก่อนวิสุทธิมรรคและ วิสุทธิมรรคได้อาศัยวิมุตติมรรคเป็นแบบฉบับในการเขียน เพราะรัชสมัยพระเจ้ามหานาม ซึ่งเป็นเวลาที่พระพุทธโฆษาจารย์ ข้ามทะเลจากอินเดียมาแปลคัมภีร์ในลังกานั้นตกอยู่ราว พ.ศ. ๙๕๓-๙๗๕
ผู้แปลเป็นภาษาจีน คือท่านสังฆปาละ (เจงแคพอล้อ) เป็นภิกษุที่มีชื่อเสียงแห่งประเทศฟูนัน (เขมร.และญวนใต้บางส่วนในปัจจุบัน) พระสังฆปาละมีชีวิตอยู่ในแผ่นดินพระเจ้าโกณฑัญญะชัยวรมัน พ.ศ. ๑๐๑๓-๑๐๕๗) อาณาจักรฟูนันในยุคนั้นมีการติดต่อกับราชสำนักจีนมาก และยอมรับรองความยิ่งใหญ่อำนาจของจีนด้วย พระสังฆปาละ ตามประวัติเล่าว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะอภิธรรมได้เดินทางไปประเทศจีนสมัยราชวงศ์เหลียงพระเจ้าเหลียงวูเต้รับเป็นผู้อุปฐาก และโปรดรับสั่งให้เป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎกในพระอารามหลวง ท่านได้แปลคัมภีร์อยู่หลายปี รวมงานที่สำเร็จเป็นคัมภีร์ ๔๘ ผูก มีวิมุตติมรรคและอโศกสุตตะ เป็นต้น ท่านมรณภาพในวัดเจียกวงยี่ สิริชนมายุ ๖๕ ปี มีพระเถระฟูนันที่มีชื่อเสียงองค์หนึ่งชื่อมันทรเสน ได้ไปแปลหนังสือในเมืองจีน ยุคเดียวกับท่าน
วิมุตติมรรคเป็นหนังสือสิบสองผูก แบ่งออกเป็นสิบแปดวรรค คือจัดเป็นนิทานวรรคหนึ่งวรรค, ศีลนิทเทส หนึ่งวรรค, ธุดงคนิทเทส หนึ่งวรรค, สมาธินิทเทส หนึ่งวรรค, ปัญญานิทเทส ห้าวรรค ตัวอย่างคำแปลที่ข้าพเจ้าแปลตัดย่อออกมาจากฉบับจีน เพื่อให้ท่านเทียบเคียงกับวิสุทธิมรรคดังต่อไปนี้
๑. นิทานวรรค ประเดิมด้วยคาถานมัสการ ว่า นโม ตสฺส ภควโต ฯ แล้วตั้งปัญหาพยากรณ์ว่า ศีล, สมาธิ, ปัญญา เป็นอนุตตรวิมุตติธรรมอันพระผู้ทรงพระนามว่าพระโคคมรู้แจ้งแล้ว ฯลฯ” (วิสุทธิมรรคตั้งเป็นปัญหาพยากรณ์ว่า คนมีปัญญาตั้งมั่นในศีลแล้วยังจิตแลปัญญาให้เกิดขึ้นอยู่ เป็นภิกษุมีความเพียรรู้จักรักษา เธอจะพึงถางซึ่งรกชัฏอันนี้เสีย)
ข้าพเจ้า (พระอุปติสสะ) จักพรรณนาทางพ้นต่อไปนี้ พึงมนสิการสดับจงดี
ปุจฉาว่า อะไรที่ชื่อว่าศีล ชื่อว่าศีลเพราะสมาจาร มารยาท ชื่อว่าสมาธิ เพราะ (จิต) ไม่กลับกลอกสับสน ชื่อว่าปัญญา เพราะรู้แจ้ง ชื่อว่าวิมุตติเพราะพ้นจากเครื่องผูก ชื่อว่าอนุตตระเพราะไม่มีอาสวะ ฯลฯ ก็ศีล, สมาธิ, ปัญญานั้นแหละ ชื่อว่า วิมุตติมรรค อันข้าพเจ้าจักกล่าวแสดงปุจฉาว่าเหตุดังฤๅ ? จึงกล่าวซึ่งวิมุตติมรรค ตอบว่า มีสาธุชนผู้ฝักใฝ่ในความหลุดพ้น เมื่อไม่ได้สดับธรรมที่กล่าวถึงความพ้น... ก็อุปมาดั่งบุรุษตาบอด ผู้ไร้ซึ่งคนนำ เที่ยวไปในประเทศไกล ย่อมได้เสวยแต่ความทุกข์ ไม่อาจหลุดพ้นไปได้.. สมดั่งที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วว่า สัตว์ที่มีกิเลสแม้น้อย แต่หากไม่ได้สดับธรรมก็ย่อมเสื่อมถอยไปในที่สุด (ไม่เจริญก้าวหน้าในความหลุดพ้น) และตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เหตุปัจจัยทั้งสองอย่างนี้เป็นธรรมเกื้อกูล ยังสัมมาทิฏฐิให้เกิด สองอย่างนั้นเป็นไฉน ? คือพหุสูต และโยนิโสมนสิการ ฯลฯ
ขันธ์ทั้งสามเป็นไฉน ? ศีลขันธ์, สมาธิขันธ์, ปัญญาขันธ์ ศีลขันธ์เป็นไฉน สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ ธรรมที่สงเคราะห์ลงต่าง ๆและศีลที่เป็นกุศลต่าง ๆ
สมาธิขันธ์เป็นไฉน ? สัมมาวายาโม, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ...
ปัญญาขันธ์เป็นไฉน ? สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปโป.. อนึ่ง พึงรักษาในสิกขาสาม คือ อธิศีลสิกขา, อธิจิตตสิกขา, อธิปัญญาสิกขา มีศีลสิกขา มีอธิศีลสิกขา มีจิตตสิกขา มีอธิจิตตสิกขา มีปัญญาสิกขา มีอธิปัญขาสิกขา
อะไรชื่อว่าศีลสิกขา ? ศีลที่มีลักษณะชื่อว่าศีลสิกขา ศีลที่ถึงที่สุดยอด ชื่อว่า อธิศีลสิกขา อนึ่ง ศีลของปุถุชนชื่อว่า ศีลสิกขา ศีลของพระอริยะชื่อว่า อธิศีลสิกขา
อะไรชื่อว่าจิตตสิกขา ? สมาธิเป็นไปในกามาวจรชื่อว่าจิตตสิกขา อะไรชื่อว่าอธิจิตตสิกขา สมาธิที่เป็นไปในรูปาวจร, อรูปาวจร ชื่อว่าอธิจิตตสิกขา อนึ่งสมาธิที่มีลักษณะ, สมาธิที่ถึงที่สุดรอบ และมรรคสมาธิชื่อว่า อธิจิตตสิกขา
อะไรชื่อว่าปัญญาสิกขา โลกียปัญญาชื่อปัญญาสิกขา ปัญญาในอริยสัจจ ๔ และมรรคปัญญา ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา พระผู้มีพระภาคตรัสอธิศีลสิกขาแก่ผู้ที่มีอินทรีย์อ่อน แสดงอธิจิตตสิกขาแก่ผู้มีอินทรีย์ปานกลางและท่านผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ทรงแสดงอธิปัญญาสิกขา...ฯลฯ ...
ศีลนั้นแหละ คือปรกติ (กาย วาจา) บริสุทธิ์
สมาธินั้นแหละ คือจิต (ที่ตั้งมั่น) บริสุทธิ์
ปัญญานั้นแหละ คือทิฏฐิ (ความเห็น) บริสุทธิ์
ชื่อว่าศีล เพราะชำระล้างซึ่งสังกิเลสแห่งปรกติภาพ สมาธิชำระล้างซึ่งสังกิเลส กล่าวคือโยคะ (เครื่องผูก) ยังจิตให้บริสุทธิ์ ปัญญาชำระล้าง ซึ่งสังกิเลสกล่าวคือโมหะ ยังทิฏฐิให้บริสุทธิ์ อนึ่งศีลย่อมกำจัดซึ่งสังกิเลส กล่าวคือกรรม (อันชั่ว) สมาธิย่อมกำจัดสังกิเลส กล่าวคือโยคะ ปัญญาย่อมกำจัดสังกิเลสกล่าวคืออนุสัย....ฯลฯ.....
...ความสุขสามอย่าง (คือ) ความสุขที่ (เกิดจากการ) ไม่มีโทษ ความสุขที่ (เกิดจากความ) สงบความสุขที่ (เกิดจากการ) เป็นผู้มีความรู้แจ้งอันตรงอาศัยศีลได้ความสุขที่ (เกิดจากการ) ไม่มีโทษ อาศัยสมาธิได้ความสุขที่สงบ อาศัยปัญญาได้ความสุข คือความรู้แจ้งอันตรง
การเว้นส่วนสุดสองข้าง ได้บรรลุทางสายกลาง
อันสมบูรณ์ อาศัยศีลกำจัดกามสุขัลลิกานุโยค ..อาศัย
สมาธิกำจัดอัตตกิลมถานุโยค....อาศัยปัญญา....พ้นจาก
ส่วนสุดทั้งสอง บรรลุซึ่งมัชฌิมาปฏิปทา
อนึ่ง ศีลนั้นย่อมกำจัดซึ่งอบายภูมิ สมาธินั้นย่อมกำจัดซึ่งกามธาตุ ปัญญานั้นย่อมกำจัดซึ่งภพทั้งปวง
ความอบรมมากในศีล อบรมน้อยในสมาธิและปัญญา ย่อมบรรลุพระโสดาบัน,สกิทาคามี, ความอบรมมากในศีลและสมาธิ แต่อบรมน้อยในปัญญาย่อมบรรลุพระอนาคามี ความอบรมเต็มในสิกขาทั้งสามนั้น ย่อมบรรลุเป็นพระอรหันต์ อันเป็นการหลุดพ้นอย่างเยี่ยมยอด..
๒. ศีลวิภาควรรค เริ่มต้นด้วยคำถามว่า
ศีลคืออะไร, มีลักษณะ, รส, การปรากฏ, ปทัฎฐาน อย่างไร ? มีอานิสงส์และอรรถว่ากระไร ? การปฏิบัติในศีลนั้นอย่างไร ? ความแตกต่าง (กันในศีล) อย่างไร ? ชนิดของศีลเท่าไร ? เกิดปรากฏขึ้นอย่างไร ? ศีลที่เป็นส่วนเบื้องต้น, ท่ามกลางและที่สุดอย่างไร ? อะไรเป็นเรื่องขัดข้องของศีล เหตุแห่งศีลและชนิดของศีลเท่าไร ? การรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั้นอย่างไร ? เหตุเท่าไรจึงทำให้ศีลนั้นดำรงอยู่ ? (วิสุทธิมรรคว่า กึ สีลํ เกนฏฺเฐน กานิสฺส ลกฺขณ รส ปจฺจุปฏฺฐาน ปทฏฺฐานานิ กิมานิสํสํ สีลํ กติวิธญเจตํ ลีลํ โกกสฺส สงฺกิเลโส กึ โวทานนฺติ )
ตัวอย่างเท่าที่ยกแปลมาให้เห็นโดยย่อนี้ เมื่อนำไปเทียบเคียงกับวิสุทธิมรรคแล้ว จะเห็นว่ามีส่วนคล้ายคลึงกันมาก ทั้งในวิธีเรียงลำดับถ้อยคำและการอรรถาธิบาย น่าเสียดายที่ต้นฉบับบาลีไม่มี มิฉะนั้นเราคงได้ความรู้เพิ่มเติมกว้างขวางขึ้น เคราะห์ดีที่สังฆปาละท่านแปลรักษาไว้ให้ แม้จะเป็นภาษาจีนก็ยังพอศึกษาเทียบเคียงรู้เรื่องได้ ดีกว่าสูญหายไม่มีเลย ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า ท่านนารทเถระจะได้แปลถ่ายจากภาษาจีนเป็นภาษาบาลีสำเร็จแล้วหรือยัง แต่ข้าพเจ้าทราบว่าในต่างประเทศมีผู้ทำคำแปลทั้งสองคัมภีร์เทียบเคียงไว้เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งนับว่าเป็นบุญของวงการปริยัติบาลีมาก และหนังสือเล่มนั้นผู้ทำจะเป็นท่านนารทเถระหรือไม่ ข้าพเจ้าไม่รู้เพราะยังไม่เคยเห็นหน้าตาของหนังสือเลย ผู้ใคร่ต่อการศึกษาคงจะได้ค้นคว้าต่อไป

คัดลอกจาก http://www.dharma-gateway.com/
บทความโดย ท่านเสถียร โพธินันทะ