พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า "ความผาสุกย่อมมีแก่ภิกษุอยู่แต่ผู้เดียว"

[๓๗๑] ถ้าไม่มีผู้อื่นอยู่ข้างหน้าหรือข้างหลังเรา ความสบายใจอย่างยิ่งคงจะมี
แก่เราผู้อยู่ในป่าผู้เดียว ผิฉะนั้น เราผู้เดียวจักไปสู่ป่าอันพระพุทธเจ้า
ทรงสรรเสริญว่า ความผาสุกย่อมมีแก่ภิกษุอยู่แต่ผู้เดียว มีใจเด็ดเดี่ยว
เราผู้เดียวเป็นผู้ชำนาญในสิ่งที่เป็นประโยชน์ จักเข้าไปสู่ป่าใหญ่ อัน
ทำให้เกิดปีติแก่พระโยคาวจร น่ารื่นรมย์ เป็นที่อยู่ของหมู่ช้างตกมัน
โดยเร็วพลัน เราผู้เดียว จักอาบน้ำในซอกเขาอันเยือกเย็นในป่าอันเย็น
มีดอกไม้บานสะพรั่ง จักจงกรมให้เป็นที่สำราญใจ เมื่อไรเราจึงจักได้
อยู่ในป่าใหญ่อันน่ารื่นรมย์แต่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนสอง จักเป็นผู้ทำกิจสำเร็จ
หาอาสวะมิได้ ขอความประสงค์ของเราผู้ปรารถนาจะทำอย่างนี้จงสำเร็จ
เถิด เราจักยังความประสงค์ของเราให้สำเร็จจงได้ ผู้อื่นไม่อาจ
ทำผู้อื่นให้สำเร็จได้ เราจักผูกเกราะ คือ ความเพียร จักเข้า
ไปสู่ป่าใหญ่ เรายังไม่บรรลุถึงความสิ้นอาสวะแล้ว จักไม่ออกไปจากป่า
นั้นเมื่อลมพัดเย็นมา กลิ่นดอกไม้ก็หอมฟุ้งมา เราจักนั่งอยู่บนยอดเขา
ทำลายอวิชชา เราจักได้รับความสุขรื่นรมย์อยู่ด้วยวิมุตติสุขในถ้ำที่เงื้อม
เขา ซึ่งดารดาษไปด้วยดอกโกสุม มีภาคพื้นเยือกเย็น อันมีอยู่ใน
ป่าใหญ่เป็นแน่ เรามีความดำริอันเต็มเปี่ยม เหมือนพระจันทร์ใน
วันเพ็ญ เป็นผู้สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว บัดนี้ ภพใหม่มิได้มี.

ที่มา : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘
ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
. เอกวิหาริยเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระเอกวิหาริยเถระ