งานศพออกแบบได้

การตายในทัศนะของพระพุทธศาสนา หมายถึง การดับของสังขารทั้งปวงของมนุษย์และสัตว์ ไม่ว่ากายสังขาร คือลมหายใจเข้าออกก็ดับไป ความตรึก ความตรองก็ดับไป ความกำหนดได้ หมายรู้ ความรู้สึกก็หมดไป อายุก็สิ้นไออุ่น คือ ไฟที่เกิดแต่กรรมก็สงบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็แตกสลายไป

พิธีกรรมการจัดการกับความตายที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานความเชื่อ ความพยายามของมนุษย์ที่จะเชื่อมโยงระหว่างโลกที่ตัวเองรู้จักกับโลกที่มีความลึกลับที่เจือด้วยความหวาดกลัวจากความไม่รู้ ดังนั้นความตายจึงมิใช่จุดสิ้นสุดของชีวิตแต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ในอีกสภาวะหนึ่งโดยมีจุดหมายร่วมกันคือปรารถนาให้ผู้ที่จากไปมีความสุข

ท่ามกลางความสูญเสียจากการตาย พุทธศาสนาสอนให้เผชิญความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น ได้ปลงสังเวช ปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่น ดำรงตนให้อยู่ในศีลในธรรมด้วยความไม่ประมาท ภูมิปัญญาโบราณอันทรงคุณค่าพยายามซึมซับหลักธรรมสอดแทรกเข้าไปในพิธีกรรมที่จัดขึ้นมาเพื่อโอบอุ้มความรู้สึกผู้ที่เหลืออยู่ที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาของการทำใจน้อมสู่การยอมรับการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก ในรูปแบบปริศนาธรรมที่แฝงกระบวนการจัดใจในแต่ละขั้นตอน


: ไปมือเปล่า

มือขาวซีดที่วางหงายอยู่ข้างขอบเตียงรดน้ำ รอญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมาทำการรดน้ำผสมน้ำอบไทย ดอกไม้หอมกรุ่นควรค่าแก่การไขว่คว้าไว้ดอมดม การรดน้ำที่มือของผู้ตาย บางท่านเข้าใจว่าเป็นการขออโหสิกรรม ปริศนาธรรมที่แฝงความจริงที่หลีกหนีไม่ได้แห่งการเคลื่อนไป มุ่งเตือนสติผู้ที่มาร่วมรดน้ำศพว่า ผู้ที่จากไปทุกคนล้วนไปมือเปล่า ไม่ได้อะไรติดตัวไปเลย แม้แต่น้ำและดอกไม้ที่เทลงบนฝ่ามือ ก็ไหลร่วงผ่านไปอย่างไม่สามารถกำติดมือไว้ได้



: ห่วงหาอาวรณ์

ร่างไร้วิญญาณการรับรู้ ถูกมัดตราสังข์แน่น ไร้ซึ่งความเจ็บปวด จัดทำบ่วงรัดเป็นสามเปราะ บ่วงหนึ่งนั้นมัดที่คอ บ่วงสองนั้นมัดที่มือ และ บ่วงสามมัดที่ข้อเท้า ปริศนาธรรมที่แฝงถึงความห่วงหาอาวรณ์ อันเป็นบ่วงให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปในสังสารวัฏ หนึ่งนั้นเปรียบได้ดังบ่วงรักในลูกหลาน สองนั้นเปรียบได้ดังบ่วงรักในสามี-ภรรยา และสามนั้นเปรียบได้ดังบ่วงรักในทรัพย์สมบัติพัสถาน หากผู้ใดยังคงติดงนอยู่ในสามบ่วงนี้ไป นิพพานอันประเสริฐคงไม่ใช่ที่หวัง ยังต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏต่อไป

: แค่เศษเงินปากผี

ร่างแข็งทื่อถูกยกขึ้น บรรจงวางลงในโลงไม้ที่ประดับประดาด้วยผ้ารองสีสวย ญาติสนิทมิตรสหาย ขยับกระเป๋าหยิบเหรียญโรยลงในโลง บ้างก็เอาเหรียญใส่ปากให้ผู้ที่จากไป ด้วยหวังว่าจะเป็นสมบัติติดตัวไปใช้ในโลกหน้า ปริศนาธรรมที่แฝงคติเตือนใจผู้อยู่เพื่อจะเตือนให้รู้ว่า แม้แต่บาทเดียวใส่ให้ไว้ในปากก็เอาไปไม่ได้ แล้วการสะสมทรัพย์สินที่แลกมาด้วยความพยายาม ความโลภ ในระหว่างที่ชีวิตยังคงมีอยู่ เพียงเท่าใดจึงจะพอเพียงกับการที่นำไปไม่ได้แม้แต่บาทเดียว



: แสงสว่างแห่งเทียน แสงสว่างแห่งปัญญา

ท่ามกลางหมู่มวลดอกไม้จัดวางที่หน้าโลงศพ ญาติพี่น้อง พากันจุดตะเกียง จุดธูป หรือ เทียนไว้ด้านหน้า เฝ้าเพียรดูอย่างต่อเนื่องมิให้ดับลง ปริศนาธรรมความคิดที่แฝงไว้ เพื่อเตือนให้รู้ว่าการเกิดของคนเรานั้นต้องการแสงสว่าง และแสงสว่างใดเปรียบด้วยแสงสว่างแห่งปัญญาในทางธรรมเป็นไม่มี ดวงเทียนประทีปอาจช่วยส่องทางเดินที่มืดมิดให้สว่างได้ฉันใด แสงสว่างแห่งปัญญาเป็นไปเพื่อความดับแห่งทุกข์ทั้งปวงได้ฉันนั้น

: เคาะโลงกับอาหารโปรด

อาหารน่ารับประทาน ถูกจัดวางในถาดพร้อมสรรพ ญาติพี่น้องกระซิบกระซาบ หนึ่งคนเดินไปเคาะโลงเรียกผู้จากไปให้รับประทาน ปริศนาธรรมปรากฏชัดแจ่มแจ้ง ผู้นอนสงบนิ่งไม่สามารถดื่มกินได้แล้ว ในขณะที่ยังคงชีวิตอยู่ ขอเพียงจัดหาพร้อมสรรพเพื่อยังชีพในยามอยู่ มีค่าควรแก่การจัดหาให้อย่างแท้จริง



: เคาะโลง รับศีล ฟังพระ

ศิษย์พระตถาคตเจ้า ร่วมเป็นพยานในการบำเพ็ญกุศล หนึ่งคนเดินไปเคาะโลง บอกผู้จากไปให้รับศีลและฟังพระสวด ปริศนาที่ซ่อนอยู่ เคาะเรียกใคร เคาะเรียกให้เกิดเสียงเพื่อเป็นการบอกคนที่มาร่วมงานว่า อย่าเอาแต่มัวเมาประมาทขาดสติ ไม่สนใจในหลักธรรมคำสอนแห่งตถาคตเจ้า เมื่อตายจากไปดังนี้ หมดเวลาของการทำความดี จะเคาะจนโลงแตกก็คงลุกขึ้นมารับศีล ฟังพระไม่ได้



: ฟังสวดพระอภิธรรม ฟังทำไม

เสียงพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมเป็นภาษาบาลี คนเป็นฟังไม่รู้เรื่อง จึงนึกว่าสวดให้คนตาย คนตายจะได้ยินอย่างไรได้ จริง ๆ แล้วเป็นการ สวด เพื่อสอนคนที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง เพื่อที่จะได้นำหลักธรรมไปปฏิบัติให้เกิดผลดีในชีวิตประจำวัน ดังนั้น แม้จะฟังไม่เข้าใจแต่เพื่อให้การฟังสวดอภิธรรมเกิดผล ควรสำรวมส่งจิตไปอยู่กับ เสียงพระสวด ให้จิตสงบนิ่งอยู่กับเสียงพระสวด ก็เกิดสมาธิจิตได้ อันเป็นการทำบำเพ็ญจิตให้เป็นกุศล และเป็นประโยชน์กับตนเอง และผู้จากไปอย่างแท้จริง



: บวชหน้าไฟ บวชทำไม

คนส่วนมากมักเข้าใจว่า การบวชหน้าไฟเป็นพิธีเหมือนเป็นการบวชเพื่อจูงผู้ตาย ขึ้นสวรรค์ ความจริงนั้นไม่ใช่ เพราะการบวชหน้าไฟเป็นการ ปลงธรรมสังเวช ให้ผู้บวชและญาติพี่น้องที่มาร่วมงานเบื่อหน่ายต่อชีวิตในโลกียวิสัย ไม่ประสงค์จะอยู่ในเพศฆราวาส มุ่งที่จะออกจากกาม และปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นเข้าสู่ กระแสแห่งมรรคผลนิพพาน



: นิมนต์พระเดินหน้าศพ

ภาพของขบวนศพ และญาติพี่น้องผู้จากไป เดินตามพระสงฆ์ เพื่อจะสอนคนที่ยังอยู่ให้ได้สำนึกว่า ตอนที่ยังอยู่นั้นควรต้องเดินตามคำสั่งสอนของพระสงฆ์ท่าน หมายความว่าให้เดินตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์นั่นเอง จึงจะถึงซึ่งทางดับทุกข์

: เวียนรอบเมรุ 3 รอบ

การเวียนสามรอบ หมายถึง การ เวียนว่ายตายเกิด อยู่ในภพทั้งสาม อันมี กามภพ รูปภพ อรูปภพ เวียนอยู่ด้วยอำนาจ กิเลสตัณหาอุปทาน ก็จะมีการเกิดอยู่ในภพทั้งสามอยู่ให้เป็นทุกข์ไม่จบสิ้น ฉะนั้นต้องทวนกระแสกิเลส เพื่อก้าวสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพาน อันเป็นการดับการเกิด เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับมาเป็นทุกข์เพราะการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และพลัดพรากอีกไม่รู้จบสิ้น มีปริศนาธรรมเป็นการสอนธรรมชั้นสูง จึงได้พาศพเวียนซ้ายให้ทวนกระแสโลกทั้งสาม

: น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ

น้ำมะพร้าว ล้างหน้าศพ เพื่อชี้ให้เห็นว่า น้ำมะพร้าวเป็นน้ำสะอาด บริสุทธิ์ ผู้เข้าสู่ มรรคผลนิพพาน ต้องชำระจิตให้สะอาดด้วยน้ำแห่งพระธรรม



: การแปรรูป หลังจากเผาแล้ว

การแปรรูป หลังจากเผาแล้ว มีการเก็บ อัฐิ และมีการเขี่ย ขี้เถ้า ผู้ตายให้เป็นรูปร่าง กลับไปกลับมาเพื่อจะบอกว่า หากยังคงเต็มไปด้วยอวิชชา หรือความไม่รู้ ก็จะต้องเวียนเกิดเวียนตาย มีภพชาติใหม่แล้วแต่วิบากของกรรมต่อไปไม่จบสิ้น หรือแสดงให้ผู้ที่ยังอยู่ระลึกได้ว่าตายไปแล้วก็เหลือเพียงเถ้าธุลี หาแก่นสารไม่ได้



: การสลักแทงหยวกคุณค่าที่หายไป

การสลักแทงหยวก คือใช้หยวกกล้วยมาประดับประดาบนชั้นเชิงตะกอนให้ดูสวยสดงดงาม เหมาะสมกับฐานะของผู้ตายหรือฐานะของเจ้าภาพที่จะทำการให้เกียรติแก่ผู้ตายด้วย ในอดีตผู้ที่จะไปงานศพมักจะพกมีดไปด้วยเสมอเนื่องจากในงานศพก็มักจะมีการสลักแทงหยวกควบคู่กันไปกับการตั้งเมรุลอย ผู้ที่ไปช่วยงานก็มักจะช่วยกันแทงหยวกคนละชิ้นสองชิ้น สมัยก่อนใครๆ ก็สามารถสลักแทงหยวกได้ ปัจจุบันผู้คนปัจจุบันชอบความสะดวก ทำให้การสลักแทงหยวกกำลังจะหมดไปจากสังคมวัฒนธรรมไทย เหลือไว้แต่การซื้อพวงหรีดดอกไม้สดราคาแพงประดับประดา เพื่อแสดงความหรูหราโดยไม่เกิดประโยชน์



การเจริญอสุภสัญญา

“ อานนท์ ! อสุภสัญญา เป็นอย่างไรเล่า?

อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้ เห็นโดยประจักษ์ซึ่งกายนี้นี่แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไปถึงเบื้องบน แต่ปลายผมลงมาถึงเบื้องล่าง ว่ามีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของอสุจิมีประการต่างๆ ; คือกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ ลำไส้สุด อาหารในกระเพาะ อุจจาระ น้ำดี เสลด หนอง โลหิต เหงื่อ มัน น้ำตา น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำเมือก น้ำลื่นหล่อข้อ น้ำมูตร ; เป็นผู้ตามเห็นความไม่งาม ในกายนี้ อยู่ ด้วย อาการอย่างนี้ : นี้เรียกว่า อสุภสัญญา.”

(ทสก. อ. ๒๔ / ๑๑๕-๑๒๐ / ๖๐

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น น. ๑๓๕๐)



สิ่งที่ควรมีในงานศพ

: การสวดสาธยายพุทธวจนะในงานศพ

ส่วนมากจะเป็นบทสวดที่เน้นไปที่ความไม่เที่ยงของร่างกาย เช่น การเจริญอสุภสัญญา ดังกล่าวมาแล้วหรือดังตัวอย่างต่อไปนี้

“ ความชรา มีอยู่ในความหนุ่ม, ความเจ็บไข้ มีอยู่ในความไม่มีโรค ความตาย มีอยู่ในชีวิต,

โธ่เอ๋ย ! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย ! ความแก่ อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย ! กายที่น่าพอใจ บัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว. แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ทุกคนก็ยังมีความตาย เป็นที่ไปในเบื้องหน้า, ความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใครๆ มันย่ำยีหมดทุกคน.”

(มหาวาร. สํ. ๑๙ / ๒๘๗ / ๙๖๓.

พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ น. ๕๕๔)



“ สัตว์ทั้งปวงจะต้องพลัดพราก จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น, สัตว์จะได้ตามปรารถนา ในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า, ข้อที่สัตว์จะหวังเอาสิ่งที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วมีการแตกดับเป็นธรรมดา ว่า สิงนี้อย่าฉิบหายเลย ดังนี้ ย่อมไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ เป็นได้.”

(มหาปรินิพพานสูตร มหา. ที. ๑๐ / ๑๓๔ / ๑๐๒.

พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ น. ๕๖๓)





“ สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่, ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต, ทั้งที่มั่งมี และยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นที่ไปถึง ในเบื้องหน้า. เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกแล้ว และยังดิบล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด, ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ก็มีความตายเป็นเบื้องหน้า ฉันนั้น.”

(มหาปรินิพพานสูตร มหา. ที. ๑๐ / ๑๓๙ / ๑๐๖.

พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ น. ๕๖)




ผู้ที่เหลืออยู่มีหน้าที่จัดงานศพบำเพ็ญอุทิศกุศลแด่ผู้ที่จากไปสมควรแก่เหตุปัจจัยตามความเหมาะสมตามยุคสมัย เป็นช่องทางในการโอบอุ้มดูแลความรู้สึกและแสดงไมตรีจิตต่อกัน มีความพอดีไม้ฟุ้งเฟ้อ สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และที่สำคัญเป็นโอกาสได้แสดงสาระและคุณค่าของการมีชีวิตด้วยการรู้เท่าทันในกฏไตรลักษณ์ ดำรงตนอยู่ด้วยความไม่ประมาท


เราสามารถเตรียมความพร้อม ยังตนไม่ให้อยู่ในความประมาท จัดปรับทัศนคติและสร้างจิตสำนึกในการเตรียมงานศพให้ตัวเองอย่างมีคุณค่าเพื่อเป็นประโยชน์ในการเจริญมรณานุสติต่อตัวเองและผู้อื่น จัดปรับให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปแต่ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่แฝงปริศนาธรรมไว้อย่างลุ่มลึกในงานศพเพื่อสะท้อนการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่าง ถอดถอนความหลงผิดว่าความตายเป็นสิ่งอัปมงคล หากแต่เป็นมงคลชีวิตต่างหาก

"จงเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตให้เป็นก็จะตายเป็น หรือ จงเรียนรู้ที่จะตายให้เป็นเราก็จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เป็น" พระเซ็นเคยกล่าวเรื่อง ชีวิตกับความตายไว้อย่างเรียบง่าย ลัดสั้น จับจิตจับใจเหลือเกินว่า ชีวิตที่เข้าถึงปัจจุบันจะไม่หวาดหวั่นต่อความตายเลย อีกนัยหนึ่งความคุ้นชินกับความตายก็ช่วยให้ชีวิตไม่ประมาท ปลดเปลื้องภาระรุงรัง ได้เรียนรู้และสะสางงานค้างใจที่ควรทำและยังไม่ได้ทำ หรือสิ่งที่ต้องทำแต่ยังไม่ได้ทำและหากไม่ได้ทำจะเสียใจที่สุด
หากเราเคยออกแบบงานวันเกิด งานรับปริญญา งานแต่างงานให้ตัวเองได้แล้ว ไฉนเลยเราจะไม่ยอมออกแบบงานที่สำคัญที่สุดของชีวิตให้ตัวเอง
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากจัดงานศพให้บุคคลที่เคารพรักอย่างมีคุณค่ามากกว่างานชุมนุมญาติมิตรเพื่อไว้อาลัยให้ผู้จากไป
หรือ....เป็นเพียงช่วงเวลาที่จะแสดงความเสียใจ เห็นอกเห็นใจต่อกัน
หรือ....มาร่วมพิธีตามมารยาทและหน้าตาทางสังคมเท่านั้น
แต่....
คุณอยากให้งานศพที่ตั้งใจจัดขึ้น
เป็นพื้นที่และช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ความจริงของชีวิต
อยากให้ผู้มาร่วมงานเกิดการตระหนักรู้ในคุณค่าของเวลาที่เหลืออยู่
ซึ่งคงเป็นกุศลผลบุญอย่างยิ่งจากวิทยาทานของผู้ที่จากไปจะได้มีโอกาสใช้ร่างกายของตัวเองทำประโยชน์ครั้งสุดท้ายอันยิ่งใหญ่ในการทำหน้าที่เป็น “ครูแห่งชีวิต”

ต่อผู้คน


แล้วงานศพจะเป็นเพียงงานของเราที่เราไม่เคยได้ออกแบบให้ตัวเอง ไม่เคยที่ได้รับรู้ความรู้สึกเลยว่าผู้ที่มางานของเรามีความรู้สึกเช่นไร เราจะสามารถออกแบบให้งานศพตัวเองได้รับรู้ความรู้สึกดีดีที่เกิดขึ้นได้หรือไม่?
งานศพคนเป็น "ตาย"อย่างมีค่าเป็นอย่างไร?


เสียง เพลง... เสียงร้องไห้... ถ้อยคำสรรเสริญ อ้อมกอดของผู้คนที่มีหัวอกเดียวกัน ไม่ได้ทำให้ "งานศพ" ของ เดวิด เซิ่ง แตกต่างจากพิธีศพทั่วไปในไต้หวัน ความแตกต่างที่โดดเด่นเป็นพิเศษเพียงอย่างเดียวก็คือ เดวิดเป็นเจ้าของงานศพ ที่ยังมีลมหายใจอยู่!!!
แล้วเขาจัด "งานศพ" ของตัวเองขึ้นมาทำไม?
เด วิด หนุ่มฉกรรจ์วัย 25 บอกกับนักข่าวเอเอฟพีในกรุงไทเปว่า "ผมไม่รู้เลยว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกกี่วัน ผมจึงอยากจะจัดพิธีศพให้ตัวเอง เพื่อประกาศความปรารถนาครั้งสุดท้ายที่ผมอยากบริจาคร่างกายให้โรงพยาบาล เพื่อเป็นประโยชน์ทางการแพทย์" หนุ่มน้อยซึ่งกำลังป่วยหนักจากโรคร้ายที่ไม่มีทางรักษา และ ทำให้เขาเป็นอัมพาตตั้งแต่ยังเด็ก จากกล้ามเนื้ออ่อนแรง และทำให้ทุกวันนี้เขาต้องนั่งหายใจรวยรินอยู่บนรถเข็นบอก
ทั้งนี้ ในเอเอฟพีเล่าว่า ลิฟวิ่ง ฟิวเนอรัล หรือ "งานศพคนเป็น" อย่างเช่นเดวิด กำลังได้รับการตอบรับมากขึ้นเรื่อยๆ จากผู้คนที่ป่วยหนัก สำหรับเดวิด ชายชาวเมืองเกาเสียง เขาได้จัดพิธีศพขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ท่ามกลางสมาชิกในครอบครัว หมอ และนักเรียนแพทย์ร่วม 100 คน จากโรงเรียนแพทย์ที่จะได้รับร่างไร้วิญญาณของเขา เมื่อ "วันนั้น" มาถึง

"ผม อาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน แต่ผมก็มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและผู้คนมากมายที่ห่วงใยผม ผมได้เรียนจบมหาวิทยาลัย ได้เขียนหนังสือ...ไม่ได้ใช้ชีวิตผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญในชีวิตคนเรา มันอยู่ที่การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าเราจะอยู่ได้นานแค่ไหน ดังนั้น เราจึงควรใช้เวลาที่เรามีให้เต็มที และทำสิ่งดีๆ ไว้"
บาทหลวงพอล ชาน วัย 85 ก็เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนความคิดนี้ และเคยจัดพิธีศพ "กู๊ดบาย ทัวร์" ของตัวเองขึ้นเมื่อปี 2550 ที่บาทหลวงได้มีโอกาสพูดในสิ่งที่อยากจะพูด รวมทั้งได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การต่อสู้ รับมือกับโรคมะเร็งปอด กับเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน
"เราหวังว่า สิ่งที่พวกเราทำจะเป็นแรงบันดาลให้ ผู้ป่วยหนักไม่กลัวความตาย และช่วยพวกเขาจัดพิธีศพเพื่อบอกลาครอบครัว บุคคลอันเป็นที่รักอย่างที่เขาจะจัด" โจ ชิง หัว หัวหน้ามูลนิธิโจว ต้า กวน ซึ่งสนับสนุนไอเดียจัดพิธีศพคนเป็นบอก
สำหรับรูปแบบงานศพคนเป็น อาจเรียบง่ายมาก มีแค่การกล่าวถ้อยความในใจที่เจ้าของงานศพอยากจะพูดเท่านั้น หรืออาจจัดขึ้นในรูปแบบงานคอนเสิร์ต เป็นทริปเดินทาง หรืองานนิทรรศการภาพวาดที่มี "ความหมาย" ต่อคนที่รู้ตัวดีว่า ความตายกำลังคืบใกล้เข้ามาทุกขณะ
"พวกเขามีโอกาสได้พูดถึงสิ่งที่ พวกเขาอยากจะบอกให้คนอื่นรู้ และได้ทำสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำ ก่อนที่มันจะสายไป อีกทั้งการได้ฟังคำสรรเสริญต่างๆ ขณะที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ ยังสามารถช่วยให้พวกเขามีกำลังใจ และเผชิญหน้ากับช่วงสุดท้ายของชีวิตได้อย่างผ่อนคลาย" โจบอก
และนั่น ก็เป็นสิ่งที่พ่อของเดวิดเห็นด้วย และว่า ลูกชายมีกำลังใจดีขึ้นมากหลังจากพิธีศพ "มีกำลังใจหลั่งไหลมาล้นหลาม มีคนมากมายโทรศัพท์มาให้กำลังใจเดวิด หรือเดินทางมาเยี่ยมเมื่อพวกเขารู้ข่าว สิ่งเหล่านี้ทำให้เดวิดเข้มแข็งขึ้น มีศรัทธากล้าแกร่งขึ้นด้วย" แซม เซิ่งเล่า
ในเอเอฟีบอกว่า พิธีศพคนเป็นได้สะท้อนให้เห็นถึงการ "เปิดใจ" ยอมรับเรื่องความตายในไต้หวัน ซึ่งในอดีตนั้น แม้แต่การพูดถึง "ความตาย" ยังมีความเชื่อว่า จะนำโชคร้ายมาให้ การเตรียมพร้อม วางแผนจัดเตรียมงานศพของตัวเอง ยิ่งเป็น "ข้อห้าม" ที่ห้ามทำเด็ดขาด!!!***
"แต่ เดี๋ยวนี้มีคนมากขึ้นที่เต็มใจพูดถึงเรื่องตาย มีการจัดทำพินัยกรรม และวางแผนว่าอยากให้จัดพิธีศพยังไง" หยาง กั้ว ฉู อาจาร์ยมหาวิทยาลัยหนานฮัวเล่า
หยางให้ความเห็นว่า ทัศนคติที่เปลี่ยนไปเป็นผลมาจากการศึกษาเรื่องความตาย ซึ่งมีการสอนกันในโรงเรียน ขณะที่รัฐบาลก็สนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนถึงเรื่องนี้กันไว้ เพื่อลดความขัดแย้งเรื่องมรดก
"งานศพคนเป็นมีผลดีหลายอย่าง อาทิ ช่วยให้คนป่วยรู้สึกสบายใจขึ้น และลบล้างความเชื่อ ข้อห้ามเก่าๆ เกี่ยวกับความตาย ผมไม่คิดว่าพิธีแบบนี้จะสามารถมาแทนที่พิธีศพตามประเพณีได้หรอก แต่ก็อาจเป็นไปได้ ถ้าหากสักวันหนึ่งสังคมเรามีค่านิยม มุมมอง ขนบธรรมเนียมประเพณีในเรื่องนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง"
เดวิด ซึ่งปัจจุบันน้ำหนักตัวลดเหลือแค่ 23 กิโลกรัม ต้องนอนนิ่งอยู่บนเตียง มีถุงออกซิเจนช่วยหายใจ บอกว่า เขาพร้อมที่จะไปเมื่อไรได้ทุกเมื่อ
"ตอน นี้ผมไม่มีความเสียใจใดๆ เลย ผมพร้อมจะตายเมื่อไรก็ได้ และเมื่อถึงวันที่ผมจากไป ผมอยากให้ครอบครัวจัดงานปาร์ตี้ค็อกเทล ฉลองการจากไปของผม แทนการมานั่งเศร้าเสียใจ"

ที่มา: คอลัมน์ ร่อนตามลม หนังสือพิมพ์มติชน
คัดลอกจาก: http://lifebhavana.net/