สมาธิเพื่ออยู่เป็นสุข/สมาธิเพื่อให้เกิดฌาน/สมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ/สมาธิเพื่อดับอาสวะ


สมาธิเพื่ออยู่เป็นสุข

ปัญหา การบำเพ็ญสมาธิภาวนาเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันคืออย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ (มีจิต) สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วบรรลุฌานที่หนึ่ง อันประกอบด้วยความตรึก ความครอง ความอิ่มเอิบใจ และความสุขที่เกิดแต่ความสงบดำรงในฌานนั้น
“แล้วบรรลุถึงฌานที่สอง ซึ่งจิตมีความเป็นหนึ่งแน่วแน่ ผ่องใสอยู่ภายใน ไม่มีความตรึกความตรอง เพราะความตรึกความตรองระงับไป มีแต่ความอิ่มเอิบใจ และความสุขที่เกิดแต่สมาธิ ดำรงอยู่ในฌานนั้น
“ต่อจากนั้นก็มีใจสงบนิ่ง เพราความอิ่มเอิบใจระงับไว้ มีความตื่นตัว ความรู้ตัว เสวยสุขด้วยนามกาย แล้วบรรลุฌานที่สาม ที่พระอริยสรรเสริญรู้ได้ฌานนี้ ย่อมมีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุขเป็นประจำ
“ต่อจากนั้นก็บรรลุฌานที่สี่ ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ได้ และดับโสมนัสโทมนัสเดิมได้ มีแต่อุเบกขาและสติอันบริสุทธิ์ ดำรงอยู่ในฌานนั้น
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนาอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุข ในปัจจุบัน”
สมาธิสูตร จ. อํ.



สมาธิเพื่อให้เกิดฌาน

ปัญหา จะบำเพ็ญสมาธิแบบไหน อย่างไร จึงจะเป็นเหตุให้เกิดการเห็นแจ้งด้วยฌาน ?

พุทธดำรัสตอบ “..... ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาให้เกิดความเข้าใจหมายรู้ว่ามีแสงสว่างภายในใจ (อาโลกสัญญาพยายามสร้างความจำหมายว่าเป็นกลางวัน (ทิวาสัญญา) ให้เกิดขึ้นในใจ คิดว่า กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน มีใจสงบระงับปราศจากเครื่องผูกมัด อบรมจิตให้มีความสว่างไสวอยู่....
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนาอย่างนี้.... ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดการเห็นแจ้งด้วยญาน.....”
สมาธิสูตร จ. อํ.

สมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ

ปัญหา จะบำเพ็ญสมาธิภาวนาแบบไหน อย่างไร จึงจะเป็นเหตุให้สติสัมปชัญญะเจริญไพบูลย์ ?

พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้แจ้งเวทนาที่กำลงเกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่กำลังตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนาที่กำลังดับไป รู้แจ้งสัญญาที่กำลังเกิดขึ้น รู้แจ้งสัญญาที่กำลังตั้งอยู่ รู้แจ้งสัญญาที่กำลังดับไป รู้แจ้งวิตกที่กำลังเกิดขึ้น รู้แจ้งวิตกที่กำลังตั้งอยู่ รู้แจ้งวิตกที่กำลังดับไป

“..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนาอย่างนี้ ที่บุคคลเจริญพัฒนาแล้วย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ”
สมาธิสูตร จ. อํ.

สมาธิเพื่อดับอาสวะ

ปัญหา จะบำเพ็ญสมาธิภาวนาแบบไหน อย่างไร จึงจะทำให้อาสวะดับได้ ?

พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ห้าอยู่เป็นประจำว่า รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้
“เวทนา.... ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา.... ความดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้
“สัญญา.... ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา.... ความดับแห่งสัญญาเป็นดังนี้
“สังขาร.... ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร.... ความดับแห่งสังขารเป็นดังนี้
“วิญญาณ.... ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ.... ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้
“..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนาอย่างนี้..... ย่อมเป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ....”
สมาธิสูตร จ. อํ.